Skip to content
พลังงานแสงอาทิตย์ – พลังงานสะอาด
กับของเสียหลังการใช้งาน
ในยุคนี้สามารถสร้างแผงโซล่าร์เซลที่ราคาต่ำลงมาก ทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าถูกลง แต่ต้นทุนที่สำคัญอีก 3 อย่างคือ ตัวแปลงกระแสตรงเป็นกระแสสลับ (Inverter) ตัวเก็บประจุไฟฟ้า – แบตเตอรี่ และ ค่าบำรุงรักษาระบบโดยรวม ทั้ง 3 รายการหลังนี้ เป็นค่าใช้จ่ายที่จัดได้ว่าสูง เมื่อเทียบต่อหน่วยผลิต
ในแง่ของประสิทธิภาพของระบบในปัจจุบัน หากเป็นการต่อใช้โดยตรง ค่าความสูญเสีย (Lost) ก็น้อยหน่อย แต่หากต้องเก็บเข้าแบตเตอรี่ แล้วนำกลับมาใช้ โดยแปลงเป็นกระแสสลับ (ที่ใช้ตามบ้าน) ค่าความสูญเสียจะเพิ่มสูงมาก เพราะการทำงานคือการ ใส่ประจุไฟฟ้าลงไปในแบตเตอรี่ ที่มีแผงตะกั่วแช่ในน้ำกรด (แบตเตอรี่รุ่นใหม่ ที่พัฒนาไปเรียกเป็นแบบแห้ง หลักการก็ไม่ต่างไปมาก) เมื่อต้องการก็เร่งปฏิกิริยาเคมี เกิดประจุกระแสไฟฟ้านำพลังงานไฟฟ้ากลับออกมาใช้ กระบวนการนี้เกิดความสูญเสีย (Efficiency lost) มาก ระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า 65-70% ทำได้ยาก นั่นคือผลิตได้ 100 หน่วย เอากลับมาใช้ได้ไม่ถึง 70 หน่วย
ในแง่ของความสะอาดของขบวนการผลิตพลังงาน ถ้านับจากจุดแผงโซล่าร์โดนแสงอาทิตย์ไป ก็นับว่าสะอาด แต่ความเป็นจริงต้องนับตั้งแต่ การผลิตวัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วน เพื่อนำมาใช้ การบำรุงรักษา และการกำจัดวัสดุอุปกรณ์เมื่อครบอายุงาน (life time) แผงโซล่าร์ มีส่วนประกอบที่สำคัญคือ silica ที่มีจุดหลอมตัวสูง (ต้องเข้าเตาหลอมทราย) บวกด้วยส่วนผสมของโลหะหนัก (copper nickel cadmium lead etc.) เพื่อให้เกิดสภาพนำไฟฟ้า ส่วนของแบตเตอรีก็มีโลหะหนักหลายชนิด โดยมีตะกั่วเป็นวัสดุหลัก การผลิต Inverter ก็เป็นในทิศทางเดียวกัน กระบวนการผลิตวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้ การบำรุงรักษา และ การกำจัดเมื่อหมดอายุ เป็นภาระด้านสิ่งแวดล้อมไม่น้อยทีเดียว